พอดีอ่านเจอที่ pantip.com ครับ
สมาคมดาราศาสตร์ไทยประกาศปรากฏการณ์ ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ ในวันที่16 พฤษภาคม 2553
ถ้าเพื่อนสมาชิกมีโอกาสก็ลองถ่าย VDO ปรากฏการณ์ธรรมชาติที่หาชมได้ยากไว้ด้วยนะครับ
แนะนำเลนส์ขนาด 200mm ขึ้นไป ถ้าจะให้ได้น้ำได้เนื้อ ก็ต้อง 400mm ขึ้นไปครับ ขออนุญาติคัดลอกบทความมานะครับ
โดย วรเชษฐ์ บุญปลอด
วันอาทิตย์ที่ 16 พฤษภาคม 2553ช่วงเวลาเย็นถึงหัวค่ำเกิดปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์
หากท้องฟ้าไม่มีเมฆจะสามารถสังเกตเห็นได้ชัดทั่วประเทศรวมไปถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ในแง่ทางเรขาคณิตปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ก็เปรียบได้กับสุริยุปราคา
แต่คราวนี้ดาวศุกร์มาอยู่แทนที่ดวงอาทิตย์และมีขนาดเล็กมากทำให้เกิดเงาดวงจันทร์ขนาดกว้างใหญ่พาดลงมาบนผิวโลก
ประเทศที่อยู่ในแนวที่เงาดวงจันทร์ผ่านจะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์บดบังดาวศุกร์ได้แต่ต้องอยู่ในบริเวณที่เป็นกลางคืนด้วยจึงจะเห็นได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า
ปรากฏการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์มีดิถีเป็นข้างขึ้นอ่อน ๆสว่างเป็นเสี้ยวคิดเป็น 7% วันนี้ดาวศุกร์มีขนาดปรากฏเพียง 12.1 พิลิปดา
(เล็กกว่าดวงจันทร์ 160 เท่า) มีส่วนสว่าง 85%ดวงจันทร์และดาวศุกร์อยู่สูงจากขอบฟ้าทิศตะวันตกไม่เกิน 30 องศา
จึงต้องหาสถานที่ที่ท้องฟ้าด้านนี้เปิดโล่งส่วนใหญ่ของประเทศไทยจะเห็นด้านมืดของดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ก่อนดวงอาทิตย์จะตกลับขอบฟ้า
การที่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่จึงต้องอาศัยกล้องสองตาหรือกล้องโทรทรรศน์ในการสังเกต มีพื้นที่บางส่วนเท่านั้น
คือทางตะวันออกของอีสานใต้และบริเวณภาคใต้ตอนล่างที่ดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ขณะดวงอาทิตย์ตกลับขอบฟ้าไปแล้วหรือกำลังตกลับขอบฟ้า
ท้องฟ้าในเวลาประมาณ 19:30 น.
สำหรับการสังเกตปรากฏการณ์ครั้งนี้ในประเทศไทยหลังจากดาวศุกร์หายไปเบื้องหลังด้านมืดของดวงจันทร์แล้วราว 1 ชั่วโมงเศษ
ดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ขอบด้านสว่างซึ่งอยู่ด้านล่างของดวงจันทร์เมื่อมองขึ้นไปบนฟ้า ขณะนั้นท้องฟ้ามืดลงแล้วแต่ยังมีแสงสนธยาเหลืออยู่บ้าง
ขณะเดียวกันดวงจันทร์และดาวศุกร์จะเคลื่อนลงต่ำใกล้ขอบฟ้ามากขึ้นการสังเกตดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในวันนี้จึงจำเป็นต้องหาสถานที่ซึ่งท้องฟ้า ด้านทิศตะวันตกไม่มีสิ่งใดกีดขวาง
การที่ดาวศุกร์เป็นวัตถุท้องฟ้าในระบบสุริยะมันอยู่ใกล้เราจนสามารถมองเห็นเป็นดวงกลมได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์
ไม่ใช่จุดแสงแบบดาวฤกษ์ที่อยู่ไกลมาก ทำให้ดวงจันทร์ใช้เวลาประมาณ 24วินาที นับตั้งแต่เริ่มแตะขอบด้านหนึ่งจนไปถึงขอบอีกด้านหนึ่งของดาวศุกร์
ขณะเริ่มบังอาจสังเกตได้ยากเพราะท้องฟ้าสว่างต้องใช้กล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาเข้าช่วย ขณะสิ้นสุดการบังดาวศุกร์จะค่อย ๆ สว่างขึ้นมาที่ขอบด้านล่างของดวงจันทร์
และสว่างเต็มที่เมื่อมันโผล่พ้นดวงจันทร์ออกมาทั้งดวง
เส้นทางการเคลื่อนที่ของดาวศุกร์ขณะผ่านเบื้องหลังดวงจันทร์สำหรับบางจังหวัดดาวศุกร์หายลับไปที่ด้านมืดของดวงจันทร์หลังจากนั้นมันจะกลับมาปรากฏอีกครั้งที่ด้านสว่าง
หมายเหตุ: คำนวณสำหรับอำเภอเมืองของแต่ละจังหวัด จังหวัดอื่น ๆ สามารถคาดคะเนเวลาได้จากจังหวัดใกล้เคียงที่อยู่ในภูมิภาคเดียวกัน
แผนภาพดวงจันทร์บังดาวศุกร์ภาพบน เป็นแผนที่โลกพื้นที่ภายในเส้นสีแดงคือบริเวณที่เห็นดวงจันทร์บังดาวศุกร์เขตกลางวัน-กลางคืนของโลกแสดง ณ เวลา 17:16 น.ซึ่งเป็นเวลากึ่งกลางของปรากฏการณ์ จากภาพนี้พอจะสังเกตได้ว่าพื้นที่ที่เห็นได้คือตอนเหนือของทวีปแอฟริกา ตะวันออกกลางเอเชียใต้ บางส่วนทางตอนล่างของจีนและเกือบทั้งหมดของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ส่วนใหญ่เกิดในเวลากลางวันประเทศไทยอยู่ใกล้เขตกลางคืนจึงจะเห็นได้ในช่วงก่อนดวงอาทิตย์ตกถึงช่วงพลบค่ำ
ภาพล่างซ้าย แสดงเวลาที่ดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์เส้นประสีฟ้าในภาพนี้แสดงเขตที่เห็นดวงจันทร์เริ่มบังดาวศุกร์ขณะดวงอาทิตย์ตก พื้นที่ทางซ้ายมือของเส้นประคือส่วนที่เกิดปรากฏการณ์ก่อนดวงอาทิตย์ตกขวามือของเส้นประคือพื้นที่ที่เกิดปรากฏการณ์หลังดวงอาทิตย์ตก(แต่ท้องฟ้ายังสว่างอยู่ด้วยแสงสนธยา)
ภาพล่างขวาแสดงเวลาสิ้นสุดการบังซึ่งดาวศุกร์จะกลับมาปรากฏที่ขอบด้านสว่างของดวงจันทร์จากแผนภาพนี้ หากเราต้องทราบเวลาการเกิดปรากฏการณ์ที่ตำแหน่งใด ๆจะสามารถคาดคะเนเวลาด้วยสายตาได้แม่นยำถึงระดับนาที เช่น ภูเก็ตเริ่มบังเวลาประมาณ 18:23 น. สิ้นสุดเวลา 19:31 - 19:32 น.ถ้าทราบพิกัดของจุดที่สังเกตการณ์ (ละติจูดและลองจิจูด)จะได้เวลาที่แม่นยำกว่านั้น
ดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ครั้งถัดไปที่เห็นได้ในประเทศไทย คือดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีคืนวันที่ 11/12 สิงหาคม 2555
(เฉพาะภาคใต้ตอนล่างขณะดวงจันทร์กำลังขึ้นเหนือขอบฟ้า)และดวงจันทร์บังดาวอังคารในเวลาหัวค่ำของวันที่ 17 เมษายน 2564(ทั่วประเทศ)
สำหรับดาวศุกร์ต้องรอถึงวันที่ 24 มีนาคม 2566ซึ่งจะเกิดในช่วงพลบค่ำเช่นเดียวกับครั้งนี้ อย่างไรก็ตาม
มีปรากฏการณ์ดวงจันทร์บังดาวศุกร์ในวันที่ 30 มิถุนายน 2554, 26กุมภาพันธ์ 2557 และ 27 พฤษภาคม 2565
ซึ่งประเทศไทยอยู่ในเขตที่เห็นได้แต่เกิดขึ้นในเวลากลางวัน หากท้องฟ้าโปร่งทางทฤษฎีมีโอกาสที่จะสังเกตได้ด้วยกล้องโทรทรรศน์