มาต่อเรื่องการเตรียมงานสร้างกันดีกว่าครับ อยากอ่านตอนแรกไปที่นี่ได้เลยครับ
http://www.thaidfilm.com/read.php?tid=41 การเตรียมงานสร้าง 2เราจะมาเข้าเรื่องงานเอกสารกัน
บทหนัง คือ แบบร่างของหนังทั้งเรื่อง
แบบร่างนี้จะถูกส่งไปให้หลายๆ แผนกดูและทำงานไปพร้อมๆกัน วันนี้เราจะมาดูว่า เมื่อบทหนังถูกส่งไปยังผู้ช่วย- ผู้กำกับมันจะเกิดอะไรขึ้นบ้างนะครับ
การคำนวณคิวถ่ายงานแรกสุดของผู้ช่วยผู้กำกับหลังจากได้บทหนังมาแล้ว เขาจะเป็นคนที่ไม่สนใจว่าบทหนังเรื่องนี้ดีหรือไม่ สนุกมั๊ยนั่น ไม่ใช่งานของเขาครับ งานของเขาคือการคำนวณเกี่ยวกับการจัดการ การดำเนินการถ่ายทำ การกะประมาณอย่างแรกที่ต้องทำคือ หนังเรื่องนี้น่าจะมีกี่คิวถ่ายถึงจะพอดี เพื่อที่โปรดิวซ์เซอร์จะเอาไปทำการจัดการในส่วนของงบประมาณ ถ้าผู้ช่วยที่แข็งแรงมีประสบการณ์โชคโชนก็อาจจะคำนวณได้อย่างคร่าวๆ ในเวลาอันรวดเร็ว (แต่ตรงนี้ต้องอยู่บทพื้นฐานของบทหนังที่เขียนมาในฟอร์แมทที่ถูกต้องด้วยนะครับ) บทหนังที่เขียนได้ตามฟอร์แมทมาตรฐานจะมีความยาวหนึ่งหน้าเท่ากับหนึ่งนาทีโดยประมาณ ทีนี้ถ้าผู้ช่วยที่ผ่านงานมาโชคโชนแล้ว เขาก็จะวัดว่าคิวหนึ่งที่เขาทำได้ เขาทำงานได้กี่หน้าของบท เช่นถ่ายแบบสบายๆได้ 3หน้าบทต่อวัน บทมีความยาว 90หน้า ก็ 90หน้า หาร 3 ก็น่าจะต้องการวันถ่ายอย่างต่ำ 30คิวถ่าย อันนี้คือการประเมินคร่าวๆ เพื่อบอกโปรดิวเซอร์ ซึ่งผู้ช่วยก็อาจจะแอบบวกไปอีก 5 คิวกันเหนียวไว้ จะได้มีสตางค์เผื่อเหลือเผื่อขาด
อธิบายนิดนึงนะครับ คิวถ่ายหรือคิวการออกกองนั้น ทุกฝ่ายจะเข้าใจตรงกันอย่างนี้จะครับ วันหนึ่งมี 24 ชั่วโมง จะมี 3 คิวถ่ายด้วยกัน นั่นคือ คิวเดย์ 06.00 - 18.00 น. คิวไนท์1 คือ 18.00 - 24.00 น. และคิวไนท์2 00.00-06.00 น. มีผลต่อการจ่ายค่าแรงเป็นอย่างมากนะครับ ถ้าอยากประหยัดต้องทำทุกอย่างไม่ให้เกินคิวที่ตั้งเอาไว้
สำหรับผู้ช่วยมือใหม่ แนะนำให้ก่อนทำอะไรทุกอย่างนะครับ ให้เราทำเอกสารที่มีชื่อแรกว่า Breakdown Sheet กันก่อน
Breakdown Sheetเบรกดาวน์คืออะไร เบรกดาวน์คือเอกสารที่ผู้ช่วยทำการแตกรายละเอียดการถ่ายทำ ต้องทำทุกซีนที่มีในบทครับ ในเบรกดาวน์จะมีหน้าตาเป็นช่องๆ ให้เรากรอกรายละเอียดของแต่ละซีน ตั้งแต่ เลขซีน เรื่องย่อของซีน กลางวันหรือกลางคืน บทอยู่หน้าไหน ความยาวกี่หน้า ตัวแสดงมีใครบ้าง อุปกรณ์ประกอบฉากมีอะไรบ้าง ตัวประกอบกี่คน อุปกรณ์พิเศษมีอะไรบ้าง และอุปกรณ์ต่างที่ซ่อนอยู่ในบทที่ผู้ช่วยต้องช่วยตีความ เช่นฉากนี้ตัวเอกไปโรงเรียน ในบทระบุว่า ตัวละครถือดอกไม้ไปโรงเรียน อุปกรณ์ประกอบฉากหลักคือดอกไม้(ต้องมีแน่นอน) ที่ไม่ระบุในบทก็เช่น กระเป๋านักเรียนของนางเอก เพราะเป็นฉากนางเอกมาโรงเรียน
จากที่นั่งหลังขดหลังแข็งทำเบรกดาวน์มาทั้งเรื่องแล้ว เราก็จะใช้เอกสารชิ้นนี้แหละ ยืนยันสิ่งต่างๆที่ต้องการในการถ่ายทำกับทางทีมงาน (หลายๆอย่างตอนทำเบรกดาวน์ ก็ต้องปรึกษากับฝ่ายอื่นๆด้วยนะครับ เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน )
ทีนี้พอทำเบรกดาวน์เสร็จ เราก็จะทำให้เบรกดาวน์นั้นมีขนาดเล็กลงโดยการขยำ...ม่ายช่าย โดยการนำรายละเอียด ในเบรกดาวน์มากรอกเป็นเอกสารตัวใหม่ที่เราจะเรียกว่าซีนลิสต์
Scene listsซีนลิสต์ คือการนำข้อมูลสำคัญๆ จากเบรกดาวน์มาใส่ในตารางแนวนอน ที่เหลือบรรทัดเดียวต่อหนึ่งซีน ทำอย่างนี้ทุกซีน แล้วเราจะมีรายละเอียดหนังทั้งเรื่องอยู่บนกระดาษประมาณ 7 - 8 แผ่น ใครถามอะไรก็สบายแล้ว ไม่ต้องหิ้วบทเป็นเล่มๆ แล้วถ้าอะไรที่เป็นรายละเอียดเล็กๆ เราค่อยกลับไปดูในเบรกดาวน์
สิ่งที่ต้องมีในซีนลิสต์ คือ
เลขฉาก/ซีน อันนี้เป็นเหมือนรหัสพันธุกรรมเลย เอกสารทุกชิ้นจะต้องมีเลขฉากที่ตรงกันนะครับ ไม่งั้นเดี๋ยวเวลาคุยกันมันจะงง
ชื่อเซต เช่น ห้องน้ำบ้านป้า ห้องนอน หน้าโรงพยาบาล เคาน์เตอร์อพาร์ทเมนท์ จะได้รู้ครับว่าฉากนี้คือะไร
รายละเอียด เป็นคำอธิบายสั้นๆของซีน เช่น ติ๊งโหน่งถือดอกไม้มาโรงเรียน หนุ่มขอโทษเมย์ งานฝังศพของจอห์น แมคเคลน เป็นต้น
Main cast คือตัวละครหลัก ตามสะดวกเลยครับแล้วแต่ดีไซน์ จะเป็นกรอบเดียวหลายกรอบให้ติ๊ก แต่ต้องมีตัวละครที่เข้าฉากนั้นให้ครบ ห้ามลืมใครเป็นอันขาดครับ
Extra คือตัวประกอบ ต้องการกี่คน (จริงๆแล้ว เรื่องตัวประกอบนี่มีเรื่องต้องคุยกันยาวอยู่เกี่ยวกับการเรียก แต่ตอนนี้เรียกรวมๆไปก่อนแล้วกัน)
Prop คืออุปกรณ์ประกอบฉาก หลักๆมีอะไรบ้าง ว่ากันไป...
Pg. คือหน้าในบท ว่าอยู่หน้าไหน / Pg count คือจำนวนหน้า ว่าซีนนี้ยาวกี่หน้าของบท
(สองอันนี้แล้วแต่นะครับ มีก็ดี ไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะจริงๆผมเองตอนเป็นผู้ช่วยไม่ค่อยได้ใช้เท่าไหร่)
Remark หมายเหตุ ก็เอาไว้เป็นช่องหมายเหตุอ่ะแหละ อะไรที่ต้องเพิ่มเติม พิเศษก็ใส่ลงไป
มีเบรกดาวน์กับซีนลิสต์แล้ว งานที่เหลือก็ง่ายขึ้นแล้วครับ
การเตรียมงานภาพยนตร์นั้นเป็นงานที่ต้องวุ่นวายอยู่กับงานเอกสารจำนวนมาก และที่สำคัญผิดไม่ได้ด้วย เพราะเอกสารทุกชิ้นจะถูกส่งให้ทีมงานฝ่ายต่างๆทำงาน ถ้าผิดบางทีมันจะผิดไปถึงตอนถ่ายเลยทีเดียว แต่งานเอกสารที่เราจะแนะนำกันในตอนนี้ คงเอามาเฉพาะที่จำเป็นในงานหนังสั้นเป็นหลักนะครับ ไม่งั้นพูดอีก 20ครั้ง ก็ยังไม่พอ
คราวที่แล้วเราคุยเรื่อง BREAKDOWN กับ SCENE LIST ไปแล้ว เดี๋ยวคราวนี้เราจะมาดูกันว่า เราจะทำอะไรกันต่อไป
SET LISTทีนี้เราจะมาแยกเซ็ตต่างๆออกจากกัน เพื่อประโยชน์ในการหาโลเคชั่นและการวางงบประมาณ
เราเอาซีนลิสต์ของเรามาดูครับ แล้วก็นั่งแยกเอาเซ็ตที่เหมือนกันมาไว้ด้วยกัน
เช่น หน้าบ้านพระเอกทั้งเรื่องมีเซ็ตนี้กี่ซีนก็จับมันมารวมกันซะ
ห้องนอนนางเอกมีกี่ซีนก็เอามาไว้ด้วยกัน
ที่สำคัญแยกกลางวันและกลางคืนด้วยนะครับ ถ้าเราทำซีนลิสต์บนเอ็กซ์เซลก็อาจจะง่ายหน่อยครับ เปิดเอกสารใหม่แล้วก็ก๊อปปี้เพสมาเลย ทำแผ่นงานละเซ็ตเลยยิ่งดี ทำจนเสร็จแล้วเราจะเห็นว่า เราจะต้องทำงานบนเซ็ตนี้เยอะมากน้อยเพียงใด จะช่วยในการคำนวณเงิน และคำนวณเวลาในการถ่ายทำแต่ละเซ็ตได้ด้วย
ตอนนี้จำนวนแผ่นของเซ็ตลิสต์ ก็จะเท่ากันกับจำนวนของเซ็ตที่เราจะต้องถ่าย ซึ่งเวลาผมทำหนังสั้นผมมักจะถ่ายเซ็ตละวันถ้ามันไม่มากเกินไป (อันนี้ตามความเหมาะสมนะครับ) ผมก็จะได้วันถ่ายคร่าวๆมาแล้ว
แต่เอกสารฉบับนี้ยังอาจจะมีจำนวนหลายแผ่นเกินไปอีก ถือไปไหนมาไหนลำบาก ดังนั้นเราจะทำเอกสารอีกชิ้น เพื่อให้เราเหลือกเอกสารโลเคชั่นแค่แผ่นเดียวในการทำงาน เอกสารชิ้นนี้จะมีแค่ชื่อเซ็ตและเลขซีน โดยแยกเป็น กลางวันกลางคืนเหมือนกัน หน้าตาจะง่ายๆอยากนี้ครับ
1. ห้องนอนโจ D 1,8,10,12
2. ห้องนอนโจ N 7,11
3 .หน้าบริษัท D 2,9,13
4. ห้องทำงานโจ D 3,4,5
5. ถนนทางเดิน D 6
เห็นมั๊ยครับดูง่าย รู้ว่าแต่ละเซ็ตมีกี่ซีน น่าจะพอกะเวลาคร่าวๆได้ และพอจัดคิวได้
และเอกสารแผ่นนี้ฝ่ายโลเคชั่นก็จะเอาไปหาโลเคชั่นที่จะถ่ายต่อไป ฝ่ายศิลป์ก็จะเริ่มเตรียมออกแบบ ฉากต่างๆ
และจากตารางด้านบนผมจะกำหนดจำนวนวันถ่ายคร่าวๆของหนังเรื่องนี้
วันแรกถ่ายห้องนอนโจ D/N ถ่าย 6 ซีน คือ 1,8,10,12,7,11
วันที่สองถ่ายที่ทำงานโจกับทางเดิน D 2,9,13,3,4,5,6
ทีนี้ฝ่ายโลเคชั่นก็ต้องหาออฟฟิศที่ใกล้กับทางเดิน เพื่อจะได้ไม่ต้องย้ายกองไปไกล
เมื่อกี๊...ว่าด้วยเรื่องของเซ็ตลีสต์ไปแล้ว อีกอันนึงที่สำคัญไม่แพ้กันคือ
CAST LISTแคสลิสต์ คือเอกสารที่รวมเอาตัวละครทุกตัวมาไว้ด้วยกันบนกระดาษแผ่นเดียว และจะระบุซีนที่ตัวละครตัวนั้นต้องเล่น หน้าตาเหมือนเซ็ตลิสต์เลยครับ
1.เสรี 1,2,3,5,6,7,8,10,11,13,14
2.นาตยา 4,5,6,9,10,11,12,15
3.พฤกษ์ 14,15,
ประมาณนี้ครับ หลังชื่อแคส อาจจะระบุชื่อตัวแสดงไปด้วยถ้ามีแล้ว มีเอกสารชิ้นนี้แล้วโปรดิวเซอร์ ก็จะใช้ในการตกลงเรื่องค่าตัว โดยวัดจากสัดส่วนของการปรากฏตัวในเรื่องครับ และเราก็จะรู้ว่าตัวละครตัวนี้ออกมาฉากไหนบ้าง มากน้อยเพียงใด
เมื่อเราได้เอกสารเหล่านี้แล้วเราจะมาวางตุ๊กตาการถ่ายทำกัน… (ตุ๊กตาของผมคือวางตารางออกมาก่อนเลยครับ โดยยังไม่ต้องสนใจ ว่านักแสดงจะว่างหรือไม่ โลเคชั่นได้หรือยัง เหตุผลคือหลายครั้งที่เราไปติดต่ออะไรพวกนี้เขาจะต้องการวันถ่ายครับ ทั้งนักแสดงและโลเคชั่น ถ้ารอดูว่าอะไรได้วันไหน รับรองครับว่าจะจัดคิวไม่ได้ซักที ดังนั้นผู้ช่วยทำมันไปก่อนเลย ครับแล้วเดี๋ยวเราค่อยมาขยับทีหลังให้เหมาะสม) การวางตารางการถ่ายทำ ก็ดูอะไรซักอย่างเป็นหลักก่อน เช่น
โลเคชั่นเป็นหลัก ในกรณีที่สถานที่ที่เราไปถ่ายให้ถ่ายได้เป็นบางวัน เช่น บางบริษัทให้ถ่ายได้เสาร์-อาทิตย์เท่านั้นเพราะวันธรรมดาเขาทำงานกัน
นักแสดงเป็นหลัก ในกรณีที่นักแสดงเราคิวทองติดคิวละครและโชว์ตัวมากมาย
และก็มีปัจจัยอื่นๆอีกเวลาในการเซ็ต บางเซ็ตอาจจะต้องใช้เวลาในการเซ็ตล่วงหน้าหลายวัน ก็ต้องเอามาเป็นปัจจัยในการวางคิวด้วยนะครับ ไม่อย่างนั้นทีมอาร์ทเราอาจจะตายได้
ฤดูกาล นี่ก็ต้องดูครับ ถ่ายหน้าฝนแต่อยู่ outdoor ตลอด อันนี้ก็แอบเสี่ยงภัยไปนิดนึง
เทศกาล วันหยุดเทศกาล ถ้าเราจะออกกองโดยการจ้างทีมกล้องทีมไฟนี่อาจจะต้องเสียค่าแรงเพิ่ม เขาอาจจะคิดเป็นสามแรงเพราะว่าเป็นวันหยุดของเขา ถ้าออกแล้วไม่คุ้มก็อย่าเลยครับ ยกเว้นอย่างในกรณีหนังแบบเมล์นรก อันนั้นถ่ายวันสงกรานต์จริงประหยัดกว่าเซ็ตสงกรานต์ครับ ก็ต้องยอมเสียค่าแรงทุกคนเพิ่ม
วันเงินออก วันที่เงินจากนายทุนออกมาให้เราได้ออกกองกัน สำคัญนะครับ ถ้าไม่มีเงิน ค่าใช้จ่ายหน้ากองของเราจะมีปัญหามาก เพราะค่าใช้จ่ายหลายตัวเราต้องจ่ายหน้ากอง
เวลาเราวางตารางถ่ายทำก็วางบนปฏิทินนั่นแหละครับ ระบุเซ็ตและซีนลงไปด้วย
จากนั้นก็เช็คคิวกันได้เลย ถ้าไม่มีอะไรเป็นปัญหา ก็ออกกองกันเลย....
หากใครอยากได้ตัวอย่างเอกสาร โพสต์ Email ไว้นะครับ เดี๋ยวว่างๆจะส่งไปให้