—
เพิ่มเข้าหัวข้อสำคัญ โดย ake เมื่อเวลา(2010-03-23)
—
บรรยากาศกองถ่าย
ก่อนหน้านี้ว่ากันด้วยเรื่องกล้องไปแล้ว ตอนนี้พักเรื่องอุปกรณ์ไว้ก่อนแล้วกันครับ มาเรื่องสบายๆกันบ้างเดี๋ยวจะพูดเรื่องบรรยากาศของการออกกองกันบ้างว่าในหนึ่งวันมันควรจะเกิดอะไรขึ้นบ้างแล้ว ค่อยมาพูดกันเรื่องเทคนิคต่อครับ
06.00 น. เช้าวันถ่าย นี่คือเวลาที่ควรจะนัดกอง ถ้าโลเคชั่นเอื้ออำนวยให้เราได้ตั้งแต่เช้านะครับ คนแรกที่ต้องมาถึงกองก่อนเลยก็คือโลเคชั่น และผู้จัดการกองครับ เพราะมาถึงก็จะต้องคอยบอกคนอื่นๆว่า รถกล้องจอดตรงไหน รถไฟจอดตรงไหน ข้าวไปอยู่ตรงไหน นักแสดงแต่งตัวตรงไหน สุขาอยู่หนใด ซึ่งตรงนี้ฝ่ายนี้ต้องรู้การทำงานคร่าวๆก่อนนะครับ ว่าเซ็ตเราจะอยู่ตรงไหน จะได้จัดการสิ่งรายรอบถูก ไม่ใช่ว่าเอารถปั่นไฟไปจอดฝั่งเดียวกับที่กล้องหันมา เดี๋ยวก็ย้ายกันกล้วยทอดเลยครับ
เมื่อทีมงานมากันแล้วสิ่งแรกที่ทำคือกินครับ ตามนิสัยคนไทยครับ ใครโผล่มาเรียกกินข้าวก่อนเลย สำหรับกองหนังสั้นนี้ ขอบอกไว้ก่อนเลยนะครับ อย่าละเลยเรื่องกินครับ กองทัพต้องเดินด้วยท้องครับ หลังจากกินข้าวเสร็จก็ควรจะเป็นเวลานัดแนะ ประชุมก่อนทำงานนิดนึง โดยหัวหน้าการประชุมก็คือ ผู้ช่วย 1 ครับ ตอนนี้เราจะประชุมว่ากันด้วย เราจะทำอะไรบ้างในวันนี้ ถ่ายทั้งหมดกี่คัท เรียงลำดับถ่ายตามความเหมาะสมต่อเหตุการณ์เฉพาะหน้า รีเช็คความพร้อมของทีม ถ้าเกิดอะไรยังไม่พร้อมจะได้วางแผนกันใหม่ปรับเบรกดาวน์ (เบรกดาวน์อันนี้เป็นเบรกดาวน์ออกกองนะครับ จะมีเฉพาะที่ถ่ายกันวันนั้น เรียงซีนมาแล้วว่าอะไรก่อนอะไรหลัง) เมื่อทุกอย่างเรียบร้อย ก็จะแจกวอ (วอร์คกี้ทอล์คกี้ ) แยกย้ายกันไปทำงาน
ผู้ช่วย 1 จะอยู่หน้าเซ็ตกับผู้กำกับ เตรียมวางการถ่ายช๊อตแรกกัน
ผู้ช่วย 2 จะไปอยู่กับนักแสดงที่ส่วนแต่งหน้า เพื่อบรีฟนักแสดงถึงสิ่งที่กำลังจะถ่าย ต่อไดอะลอคให้นักแสดง เช็คว่านักแสดงพร้อมมั๊ย คือ นักแสดงควรจะไปถึงหน้าเซ็ตโดยที่จำบทได้แล้ว เพราะไปถึงหน้าเซตจะไม่มีการท่องบทอีก จะว่ากันด้วยเรื่องบล๊อกกิ้งกับอารมณ์
กลับมาที่งานหน้ากล้อง
ผู้กำกับกับผู้กำกับภาพจะวางบล๊อกกิ้ง (ตำแหน่งตัวแสดงและกล้อง) ว่าการแสดงในช๊อตนี้ที่กำลังจะถ่ายเป็นยังไง แล้วก็จะวางกล้อง จัดแสง วางตัวประกอบ อาจจะต้องมีดัมมี่ หรือแสตนอิน ของนักแสดงหลัก เพื่อเป็นมาร์กให้จัดไฟครับ ทุกอย่างเรียบร้อยผู้ช่วย 2 จะพานักแสดงมา
ถึงตอนนี้ ผู้ช่วยจะประกาศให้ทีมงานรู้ถึงซีนที่จะถ่ายถัดไป ว่าเป็นซีนอะไรครับ เพื่อให้ทีมงานเตรียมตัวล่วงหน้า และเป็นการรีเช็คว่าทุกอย่างยังอยู่บนแผนงาน
เมื่อนักแสดงมาถึง ผู้กำกับก็จะเอานักแสดงไปวางที่บล๊อกกิ้งที่เตรียมไว้ และจะซักซ้อมปรับการแสดงกันนิดหน่อย เมื่อทุกอย่างเริ่มลงตัว นักแสดงจะซ้อมพร้อมกล้อง
เวลาซ้อมผู้ช่วย 1 มักมีคำเก๋ๆครับ เช่น " ซ้อมนะครับ...สมมุติ สมมุติว่า แอคชั่น " ต้องสมมุติด้วยนะครับ หลังจากการสมมุติเหมือนจริงถ้าทุกอย่างไม่มีปัญหาอะไรเราก็จะถ่ายจริงกัน
ตอนจะถ่าย ก็ผู้ช่วยอีกแหละครับต้องขาน แหมตอนนี้ก็เท่อีกแล้ว ถ้าเป็นหนังอัดเสียงแยกถ่ายฟิล์ม ก็จะมีมนุษย์ขากตุ๋ยหรือสเลจแมนของเรา วิ่งไปที่เซ็ต ถือสเลจไว้พร้อมขานและตี (หน้าที่ตีสเลจนี่ไม่ใช่ง่ายนะครับ เพราะว่าต้องรู้ว่าตัวเองควรยืนตรงไหน ตำแหน่งยืนจะเปลี่ยนไปตามการใช้เลนส์ครับ) พอจะเริ่มถ่าย ผู้ช่วยก็จะสั่งฝ่ายเสียงก่อนครับ ด้วยคำสั่งเสียงดังฟังชัด
ผู้ช่วย : ซาวด์
ฝ่ายเสียง : (กดเดินเทป) เทปเดิน
ผู้ช่วย : กล้อง
ช่างภาพ : (กดเดินกล้อง) สปีด
สเลจแมน : ซีน 3 คัท 2 เทค 1
แล้วเขาก็จะตีปะกับดังแป๊ะ แล้วต้องรีบวิ่งหนีไปให้พ้นเซ็ตครับ คือหมดหน้าที่มึงแล้ว
ตอนนี้ช่างภาพจะคอมโพสต์เฟรมแรก เมื่อได้เฟรมแล้ว นิ่งแล้วช่างภาพจะขานให้ทุกคนรู้
ช่างภาพ : มาร์ค
สุดท้ายก็จะเป็นผู้ช่วยหรือผู้กำกับสั่งก็ได้ครับ แล้วแต่ตกลง นั่นก็คือคำสั่ง
" แอคชั่น "
นักแสดงต้องเว้นนิดนึง หลังจากได้ยินคำสั่ง แล้วค่อยเริ่มเล่น
ถ้าในกรณีที่มีตัวประกอบ จะมีคำสั่งนึกมาก่อนแอคชั่นครับ นั่นคือคำสั่ง
ผู้ช่วย : แบคกราวน์
ตัวประกอบจะเริ่มเล่น เหตุผลคือถ้าตัวประกอบเล่นพร้อมกับนักแสดงมันจะกลายเป็นเริ่มพร้อมกันและดูไม่เป็นธรรมชาติ ทีนี้ก็เล่นไปเรื่อยๆ จนหมดช๊อตที่วางไว้ ผู้กำกับก็จะสั่ง
ผู้กำกับ : คัท
ทีนี้ถ้าตอนเริ่มเป็นคัทที่ไม่สามารถยิงสเลจได้ เช่นกล้องอยู่บนเครนสูงมาก ภาพเริ่มจากแคบมาก เราก็จะถ่ายกันไปก่อนเลยครับ ขานทุกอย่างยกเว้นสเลจ แล้วก็ถ่ายไป แต่ตอนจบเราจะไม่สั่งคัทครับ ผู้ช่วยจะตะโกนว่า
ผู้ช่วย : เอ็นท์ สเลจ
ตอนนี้กล้องจะเหวี่ยงมารับสเลจ สเลจแมนก็จะขาน แล้วตีเหมือนเดิม แต่ต้องคว่ำสเลจนะครับ เพื่อให้คนตัดไม่สับสน
เป็นอันเรียบร้อย 1 คัทครับ ถ้ายังไม่ใช่อย่างที่ผู้กำกับคิด ผู้กำกับก็จะสั่งเทคเอง ถ้าทุกอย่างเรียบร้อย ก็จะเตรียมในส่วนช๊อตถัดไป ก็จะทำเหมือนเดิมเลยครับ
แนวคิดในการถ่ายแต่ละซีน
1. ควรเริ่มจากช๊อตที่กว้างสุดก่อน แล้วค่อยๆเข้ามาแคบ จนถึงช๊อตอินเสิร์ทเพราะเวลาแคบอาจจะต้องรื้อเซ็ต บุกไฟเข้ามา เซ็ตจะเละเทะไปเรื่อยๆ
2. ควรถ่ายเป็นฝั่งๆไป เพราะการย้ายฝั่งคือการเสียเวลาอย่างมหาศาลครับ ไหนจะคน ไหนจะไฟ ดังนั้นเช็คดีๆครับอย่าให้ขาดตก ย้ายบ่อยๆจะมีคนเคืองเอาครับ
3. ช๊อตแรกๆของวันควรถ่ายภายนอกก่อนครับ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าวันนั้นฝนจะตกมั๊ย อย่างน้อยเก็บภายนอกก่อน อุ่นใจ ต่อไปฝนตกเราก็อยู่ภายใน
4. การขานสเลจ เราจะขานเฉพาะที่มีอัดเสียงเท่านั้น ถ้าถ่ายแบบไม่อัดเสียงจะเอาสเลจไปยิงเฟรมหัวอย่างเดียว
5. เมื่อถ่ายที่เซ็ตไหนเสร็จให้อัดเสียงบรรยากาศไว้ด้วยนะครับ สำคัญมากๆ เดี๋ยวจะมาอธิบายตรงนี้อีกที ในคราวถัดๆไป
ทำอย่างนี้ไปทั้งวัน ถึงเวลาพักก็พักครับ อันนี้สำหรับหนังที่ไม่ใช่ฉากแอคชั่น หรือฉากเอฟเฟ็กต์ แต่จริงๆจะบอกว่าเวลาถ่ายฉากไหนๆก็เหมือนๆกันแหละครับ เราก็ต้อง หาแบ๊คกราวน์ กำหนด บล๊อกกิ้ง จัดแสง แล้วซ้อม แล้วก็ถ่ายเหมือนๆกันครับ
|