ความหมายในทางหนังนั้น ฉากจะเกี่ยวพันกับพื้นที่และเวลา และช่วงของเหตุการณ์เพื่อตอบรับข้อมูลหรืออารมณ์ที่คนทำหนังต้องการจะบอกคนดู ถึงแม้จะเกิดเหตุการณ์ขึ้นในสถานที่เดียวกันเป๊ะๆ แต่เปลี่ยนช่วงของเวลา(นั่นก็หมายถึงว่ามันเป็นคนละซีนกัน) ดังนั้นในการเขียนบทเราต้องเข้าใจความหมายของซีนหรือฉากกันก่อนครับเพราะว่ามีหลายคนเข้าใจผิดว่า คำว่าซีนหรือฉากมักเกี่ยวข้องกับสถานที่เพียงอย่างเดียว (เรื่องนี้อธิบายยากครับ แต่ถ้าลองเขียนดูแล้วจะเข้าใจ)
คนทำหนังสั้นไทยหลายๆคน มักจะเข้าใจผิดเพราะว่าเราใช้คำว่าฉากเป็นคำพูดรวมๆ ฉากของเราหมายถึงสถานที่ เหตุการณ์ บางคนรวมไปถึงโลเคชั่นเลยด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นเป็นที่มาว่าทำไมเราต้องใช้ทับศัพท์เวลาพูดกันในกองถ่าย เพื่อป้องกันความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนนั่นเอง เดี๋ยวจะอธิบายคำทับศัพท์เหล่านี้ให้ฟังเลยแล้วกันครับ
Scene คำนี้จะเกี่ยวเนื่องกับพื้นที่และเวลาในหนัง เป็นช่วงเหตุการณ์ที่คนเขียนบทระบุไว้ในบท จะมีเลขซีนนำหน้าเสมอ เพื่อเป็นรหัสให้รู้ในการถ่ายทำครับ บางครั้งในซีน(ฉาก) อาจไม่จำเป็นที่ต้องอยู่สถานที่เดียวกันก็ได้ เช่น ฉากที่ร๊อกกี้ฝึกซ้อมมวย อาจจะประกอบด้วย ห้องครัว ร๊อกกี้กินไข่ดิบ ถนน ร๊อกกี้ออกไปวิ่ง ลานกว้าง ร๊อกกี้ไปออกกำลังกาย สามที่นี้จะตัดสลับกันไปมาในหนึ่งซีน(ฉาก) เพื่อบอกว่าร๊อกกี้กำลังขมักเขม้นฝึกซ้อมอย่างตั้งใจ และฉากนี้จะส่งผลให้คนดูเอาใจช่วยตัวละครในตอนท้าย
Set อันนี้เราก็เรียกกันว่าฉากอีก แต่อันนี้จะเกี่ยวเนื่องกับการถ่ายทำโดยตรงครับ เซตคือจุดที่เราจะถ่าย หรือฉากที่เราสร้างขึ้นมา เช่น วันนี้เราจะถ่ายเซตห้องครัวของร๊อกกี้ เป็นส่วนหนึ่งของซีนฝึกซ้อมของร๊อคกี้เป็นตอนร๊อกกี้กินไข่ดิบ สิบฟองรวด ทีมงานช่วยเตรียมกระโถนอ้วกให้ซิลเวสเตอร์ด้วย จากนั้นเราจะย้ายไปถ่ายเซ็ทห้องนั่งเล่น เป็นตอนที่ร๊อกกี้ทะเลาะกับลูกที่มาหาที่บ้าน อาจจะต้องใช้เวลาหน่อย เพราะว่า ซิลเวสเตอร์อาจจะยังพะอืดพะอมจากไข่ในเซตที่แล้วอยู่ อย่างนี้เป็นต้น พอจะเข้าใจคร่าวๆมั๊ยครับ
Location(สถานที่ถ่ายทำ) คือสถานที่ถ่ายทำจริงๆ ที่กองถ่ายจะไปปักอยู่ คนไทยเรียกกันสั้นๆว่าโล (ไม่เกี่ยวข้องกับชนชั้น หรือหน่วยวัดน้ำหนักแต่อย่างใดนะครับ) เหมือนกันครับ ในหนึ่งโลอาจจะมีหลาย เซ็ตอยู่ในนั้น และต้องถ่ายหลายซีนที่ระบุในบท เพราะฉะนั้นน้ำตก ภูเขา ทะเล บ้าน อันนี้ถือเป็นโลเคชั่นทั้งหมด
สมมุติเป็นการออกกองหนึ่งวันนะครับ
วันนี้โลเคชั่นเราคือบ้านที่มีนบุรี จะถ่าย 3 เซ็ตด้วยกัน
เซ็ตแรกคือห้องครัว ถ่ายซีนที่ 69 ตอนที่ร๊อคกี้กินไข่ดิบ
เซ็ตที่สองคือ ห้องนั่งเล่น จะถ่ายสองซีน ซีนแรกคือซีนที่ 23 ตอนที่ร๊อกกี้ทะเลาะกับลูกชายที่มาเยี่ยม และอีกซีนคือ ซีนที่ 80 ตอนที่ทุกคนมาแสดงความยินดีกับชัยชนะของร๊อกกี้
เซ็ตสุดท้ายที่จะถ่ายคือ ห้องนอน ห้องนอนนี้เราจะหลอกถ่ายเป็นห้องนอนนางเอก ช่วยเซ็ตให้เป็นห้องนอนผู้หญิงด้วยนะครับ ซีนที่เราจะถ่ายคือซีนที่ 20 ร๊อกกี้พยายามมีอะไรกับนางเอกแต่ไม่สู้เพราะตัวเองแก่แล้ว (เป็นซีนอุปมาอุปมัยกับการชกมวยของร๊อกกี้)
เห็นมั๊ยครับว่า เราจำเป็นต้องใช้ทับศัพท์ เพราะว่ามันจะสร้างความเข้าใจที่ตรงกันกับทุกฝ่าย....
ถ้าเรียกแบบน้องๆผู้กำกับมือใหม่ที่ผมเคยได้ยินมา ก็เปลี่ยนตัวหนาทั้งหมดที่ยกตัวอย่างมาด้านบนให้เป็นคำว่าฉากให้หมด ก็จะมี งง งง มึน มึนกันบ้าง
การดีไซน์ Scene ในภาพยนตร์
1 ในหนึ่ง Scene ควรมีต้นกลางและจบ ในตัว Scene
2 ตอนเขียน Scene ( หรือถ่ายก็แล้วแต่ ) สิ่งที่ควรคำนึงถึงคือ Scene นี้จะบอกอะไร และ Scene นี้เราต้องการให้คนดูรู้สึกอย่างไร เพราะมันจะเป็นแกนในการกำหนดว่าเราจะถ่ายอย่างไร ควรใช้กี่คัท
3 ความต่อเนื่องภายใน Scene คือถ้าต้องการให้หนังดูลื่นไหล การเปลี่ยนภาพควรเปลี่ยนไปตามจังหวะ กว้าง ปานกลาง แคบ หรือ แคบ ปานกลาง กว้าง ( นั่นหมายความว่าการถ่ายทำควรจะถ่ายทำมาครอบคลุมพอ)
4 ความต่อเนื่องระหว่าง Scene คือ เราจะไม่ใช้ขนาดภาพแบบเดียวกันในการเปลี่ยน Scene เพราะว่าจะทำให้รู้สึกกระโดด ไม่ต่อเนื่อง ควรจะเป็นถ้าฉากก่อนหน้าจบที่ภาพกว้าง ฉากถัดไปควรต้องขึ้นที่ภาพแคบ ยกเว้นว่าจะทำให้ทั้งสองฉากล้อเลียนกันในด้าน องค์ประกอบภาพ
5 คำนึงถึงทิศทางตลอดเวลา เช่น ฉากคนคุยกัน เป็น คนหนึ่งมองไปทางซ้ายเฟรม อีกคนต้องมองขวา (เพื่อความต่อเนื่องระหว่างคัท หรือมีคนเดินออกจากเฟรม ถ้าออกด้านซ้ายเฟรม คัทถัดไปต้องเข้าทางด้านขวาเฟรมเสมอ
6 ทั้งหมดที่กล่าวมาขั้นต้นเป็นเพียงหลักการณ์ ดังนั้นมันสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามวัตถุประสงค์ของผู้กำกับครับ
[ แก้ไขล่าสุดโดย ake เมื่อ 2014-11-25 14:35 ]