เนื่องจากหลัง ๆ มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ โทรมาสอบถามผมเกี่ยวกับเรื่อง RIG หรือชุด DSLR Support มากมายหลายประเด็น ไอ้เราก็ไม่ใช่จะเป็นผู้รู้อะไรมากมาย ( อันนี้ไม่ได้ออกตัว แค่คิดว่า RIG มันก็คงจะได้ต้องใช้ความสามารถพิเศษเฉพาะตัวอะไรในการใช้งาน ไม่ต้องไปเรียนให้จบปริญญาแล้วจึงจะใช้ได้ ) ก็บังเอิญที่เรามีอุปกรณ์เหล่านี้อยู่กับตัวแบบครบครันและหลากหลาย อย่างน้อยก็ 2 -3 ยี่ห้อ ก็เลยหาเวลาว่าง ๆ นั่งถ่ายรุปเขียนประกอบภาพแบบพอเข้าใจครับ
ก่อนอื่น ก่อนที่ท่านใดจะอ่าน ต้องขอบอกว่าเรื่องที่ผมจะเขียน ไม่ได้เป็นเรื่องที่เทพอะไร สำหรับมือโปรแล้วก็อาจจะเปิดผ่านไปแบบไม่ต้องสงสัย แต่สำหรับมือใหม่ หรือมือเก่า แต่อยากมาสอดส่องเพื่อเก็บเกี่ยวก็คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อยนะครับ
อ้างอิง
RIG มันคืออะไร
ตามความหมายใน dictionary คือ verb ที่แสดงกริยาการขึงสายระโยงระยาง การจัดเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ ซึ่งให้เดาในความหมายของการถ่ายทำก็คงจะพยายามจะสื่อว่า มันคือเตรียมอุปกรณ์เกี่ยวกับการถ่ายทำโดยจับมันมารวมกันหรือขึงหรือจับมันแบบระโยงระยาง ( ในที่นี้คงหมายถึงเต็มไปหมด ) แต่ยิ่งพยายามหาคำจำกัดความมันก็ยิ่งงง มีใครจำกัดความให้มันฟังดูง่าย ๆ บ้างมั้ยเนี่ย
แต่เอาเป็นว่าด้วยความรู้แบบชาวบ้านของเรามันคืออุปกรณ์ชนิดหนึ่งที่มาประกอบเข้ากับตัวกล้องเพื่อทำหน้าที่ในการรวบรวมอุปกรณ์ประกอบกล้องอื่น ๆ เข้าด้วยกัน คือถ้ามีท่านใดจำกัดความมันได้แบบลงตัวเชิญแนะนำได้เลยครับ
อย่างในรูปด้านบน นึกไม่ออกเลยว่าถ้าไม่มี RIG แล้วเนี่ย อุปกรณ์ต่าง ๆ ทั้งไมค์ทั้งแบตทั้งจอ ทั้งไวเลส เราจะถือกันยังไง ฉะนั้น RIG จึงเป็นอุปกรณ์หนึ่งที่จำเป็นสำหรับกล้องของเรา แต่นั้นก็ไม่ได้หมายถึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้นะ
คงต้องบอกว่า " ดูตามความเหมาะสม ลักษณะการทำงาน และความจำเป็นในการใช้งาน แล้วจัด RIG ให้รองรับกับการทำงานของเราได้ ถือเป็นการดีที่สุดครับ "
เริ่มต้นเราขอแนะนำ ชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่พอจะมีอยุ่ให้เห็นภาพรวมแบบกว้าง ๆ กันก่อนนะครับว่า RIG ชุดหนึ่ง ๆ มันจะมีอะไรบ้าง อันไหนหน้าตาเป็นยังไง แล้วมันมีไว้ทำไม
จากรูปด้านบนเราจะเป็นว่ามันมีอะไรมากมายก่ายกองเต็มไปหมด ไล่เรียงดูกันเป็นตัว ๆ เลยละกันนะครับ[
1. base plate ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่จะต้องนึกถึงเป็นอย่างแรก เมื่อคิดจะ RIG เพราะว่ามันคือชิ้นส่วนที่จะติดกับกล้อง และขา tripod ด้านบนมันจะมี plate สำหรับติดกับกล้อง ด้านล่างจะมี plate สำหรับติดกับขาตั้งกล้อง ถ้าไม่มีเจ้าตัวนี้คุณก็อย่าคิดไปไกลถึง mattebox แบบใส่ฟิลเตอร์ หรือ ที่ปันโฟกัสกันเลยครับ ถ้าคิดจะ RIG อุปกรณ์ก็ต้องมีเจ้าตัวนี้เป็นอันดับแรก ซึ่งเท่าที่เห็นจะมีอยู่ 2 แบบคือ
- แบบ plate ธรรมดา จากภาพข้างบนจะสังเกตุเห็นมีรูสกรูอยู่ 2 ขนาด รูเล็กคือขนาด 1/4 , รูใหญ่คือขนาด 3/8 ส่วนมาก base plate จะมีรูสกรูสำหรับติดตั้งบนขาตั้งกล้องให้ 2 ขนาดเพื่อความหลากหลายในการใช้งาน
- แบบ Quick release plate ซึ่งก็จะสะดวกหน่อยเวลาใช้งานเพราะสามารถถอด plate พร้อมกับตัวกล้องออกจากชุด RIG ได้เลยในทันที
โดยส่วนมาก base plate มักจะ มาพร้อมกับท่อ rod 15mm จำนวน 2 ชุดอยู่แล้วครับ
เวลาเรานำท่อ rod ประกอบเข้ากับ plate แล้ว ระยะห่างของท่อ rod ทั้ง 2 จะอยู่ที่ 60mm ( วัดจากจุดศูนย์กลางของท่อทั้งสองอัน ) เป้นมาตรฐานของทุก ๆ ยี่ห้อ นั่นก็หมายถึง base plate ทุก ๆ ตัวจะมีระยะห่างของท่อ rod เท่ากันหมด เราสามารถนำ rod ขนาด 15mm ของยี่ห้ออะไรก็ได้ ต่อเข้ากับ base plate ของยี่ห้ออะไรก้ได้แบบไม่จำกัด
base plate บางชุดสามารถปรับระดับความสูง หรือปรับขึ้นลงได้ จะสังเกตุเห็นด้านข้างจะมี knob สำหรับล็อคและมีรางสำหรับปรับ plate ขึ้นลงให้ได้ระดับความสูง ตามต้องการ
แล้วจะปรับ plate ให้สูงขึ้นต่ำลงทำไม? เหตุผล ก็เพื่อให้เรามีความยืดหยุ่นในการปรับกล้องและเลนส์ให้อยู่ในตำแหน่งความสูงที่พอดี ๆ กับอุปกรณ์อื่น ๆ เช่น mattebox หรือ follow focus คือให้อุปกรณ์ทุกชิ้นอยู่ในตำแหน่งทีตรงกันให้มัน match กันพอดิบพอดี
2. rod หรือท่อ เป็นอุปกรณ์บ้าน ๆ ธรรมดา ๆ ที่ดูเหมือนจะไม่มีอะไรซับซ้อนแต่จริง ๆ กับเป็นของหายาก ด้วยเหตุผลที่มันเป็น 15mm นี่แหละไม่รู้ทำไม อีกอย่างท่อ rod ส่วนมากมักติดมากับชุด RIG มาม่า หรือ RIG กึ่งสำเร็จรูป ซึ่งเค้ามีมาให้แค่นี้เราก็เลยต้องใช้แค่นี้ จะหาเพิ่มก็สุดแสนจะยากเย็น และหลาย ๆ คนมักมองข้ามมันไปด้วยนั่นเอง ท่อที่เราใช้กันกับกล้อง DSLR ก็จะเป็นท่อ 15mm ( วัดเส้นผ่าศูนย์กลางภายนอก ) ซึ่งค่าจริง ๆ วัดแบบละเอียดอาจจะไม่ได้ 15mm เป๊ะก็แล้วแต่นะครับ มันยังคงมีเรื่องของค่า tolerance ซึ่งคงไม่ต้องไปสนใจมัน แค่รู้จักมันในนาม ท่อหรือ rod 15mm เท่านั้นพอ ท่อมีหลายประเภทตามวัสดุที่ใช้ผลิต - rod อลูมิเนียมราคาถูก แข็งแรงทนทาน น้ำหนักไม่มาก
- rod คาร์บอนไฟเบอร์ น้ำหนักเบา แข็งแรงทนทาน แต่มีราคาสูงเมื่อเทียบกับชนิดอื่น ๆ - rod สแตนเลส แข็งแรงทนทานมากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆ แต่น้ำหนักก็มากๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆๆเช่นกัน อย่างที่บอกว่า rod หรือท่อดูเหมือนจะเป็นอุปกรณ์บ้าน ๆ ซึ่งทุกคนมักมองข้ามมันไป แต่จริง ๆ มันเป็นชิ้นส่วนที่สำคัญทีสุดในชุด RIG เพราะมันจะเป็นตัวเชื่อมต่อทุกอย่างเข้าด้วยกัน ถ้าไม่มี rod --- RIG ก็ไม่เป็น RIG
เชื่อมั้ยว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสนใจกับท่อและความยาวของท่อ บางคนมีท่อเยอะแยะแต่ก็วาง ๆ ทิ้ง ๆ ไว้ไม่เคยได้สนใจ ทั้งที่ผู้ผลิตหลาย ๆ ค่ายพยายามสร้างมูลค่าเพิ่มของเจ้าท่อ rod นี้ด้วยฟังก์ชั่นการใช้งานที่สามารถต่อขยายได้ เอาละจุ้ย ขยายท่อได้ด้วย ลองมาดูกันครับ
คือปกติเวลาเราได้ชุด RIG ซึ่งเป็นแบบชุด RIG มาม่า เราก็จะได้อุปกรณ์ครบครันพร้อมท่อที่เค้าให้มาเท่าไหร่ก็เท่านั้น แต่บางครั้งเราก็อยากได้ท่อที่ยาวขึ้นกว่าเดิมจะทำยังไง ที่นี่มีคำตอบ อิอิ
ส่วนมากเรามักจะเห็น rod ที่มีความยาวอยู่ในช่วง 150mm 180mm 200mm 250mm 300mm และ ความยาว 350mm ( ซึ่งก็หายากอยู่ ) แต่ทีนี้ถ้าเราเกิดต้องการ rod ที่ยาวกว่านี้เช่น 400mm ซึ่งหายาก หรือมี rod ความยาว 150mm หรือ 200mm อยู่แล้วแต่ต้องการขยายความยาวให้ยาวขึ้น จริง ๆ เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมี rod มันทุกความยาวหรอก เพราะมันก็จะรกบ้านโดยเปล่าประโยชน์ เราอาจจะมีท่อ rod ยาวสัก 300cm สัก 1 คู่ และก็มี 200cm สัก 2 คู่ พร้อมตัว joint สกรู อีก 1 คุ่ก็ทำงานได้ครอบจักรวาลแล้วครับ
จากรูปข้างบนนี่แหละครับ joint สกรู ที่ผมว่า มันคือชิ้นส่วน ชิ้นเล็ก ๆ ที่จะทำให้ rod ของเรายาวขึ้นได้ มันเป็นชิ้นส่วนใน RIG ที่ไม่มีใครสนใจ บางคนไม่รู้จักกับมันด้วยซ้ำแต่มันมีประโยชน์มาก ๆ ซึ่ง joint สกรู ตัวนี้ rod แต่ละค่ายเค้าก็จะทำสกรูของ rod กับ joint ให้มันมีขนาดที่สัมพันธ์กัน rod ค่ายไหนก็จะต้องใช้ joint ค่ายนั้น
อย่างในรูปนี้ เรานำ joint ประกอบเข้ากับท่อ rod ด้านหนึ่งจากนั้นเราก็จะสามารถขันท่อเข้ากับ joint อีกด้านหนึ่งได้
นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของการต่อท่อโดยใช้ joint สกรูเพื่อเพิ่มความยาวของ rod ให้ยาวขึ้น ซึ่งมันก็จะทำให้คุณสามารถประกอบอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ากับ RIG ได้ตามการใช้งาน เช่น วันหนึ่งคุณอาจจะเอา rod 200mm + rod 150mm ให้ได้ท่อยาว 350mm เพื่อประกอบอุปกรณ์เยอะแยะมากมายก่ายกอง แต่อีกวันหนึ่งคุณอาจจะอยากได้ ท่อแค่ความยาว 200mm เพื่อประกอบแค่ follow กับ mattebox คุณก็ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ท่อยาว ๆ คุณก็อถอด joint ออกเหลือแค่ท่อยาวประมาณ 200mm ก็เพียงพอแล้ว
อะไรแบบนี้มันจะทำให้เพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้งานอุปกรณ์ของเราได้มากขึ้น
โอย แค่ plate กับท่อเขียนนิดเดียวมันยาวได้ขนาดนี้ ใช้เวลาไปครึ่งวันแล้ว เอาเป็นว่าชิ้นอื่น ๆ จะค่อย ๆ ทะยอยมาเรื่อย ๆ มันยังมี C-shape , rod clampแบบต่าง ๆ จะค่อย ๆ ทะยอยเอารูปมาลงให้ชมกันพร้อมทั้งบรรยายสรรพคุณนะครับ
[ แก้ไขล่าสุดโดย tkratt เมื่อ 2012-01-24 14:06 ]